ทำความรู้จักหลักสูตรนานาชาติ ระหว่าง A-LEVEL กับ AP
สวัสดีค่ะ วันนี้ Up Grade Class มีข้อมูลดีๆ สำหรับน้องๆ ที่ต้องการเรียนโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติทั้งระบบ A-Level และ AP ว่าทั้ง 2 ระบบนั้น มีข้อแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละหลักสูตรเหมาะกับตัวเองหรือไม่ หลายคนอาจสับสนว่า AP นั้นเหมือนการสอบ A-Level หรือ IB หรือไม่ ? การสอบนี้แตกต่างกันค่ะ เพราะ AP เป็นเหมือน “ทางลัด” การสอบเก็บคะแนนวิชาที่น้องๆ อยากจะยกเว้นไม่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัย ปี 1 หากน้องๆ เรียนอยู่ Grade 12 ในโรงเรียนระบบอเมริกัน ทางโรงเรียนจะมีวิชา AP กว่า 30 วิชาให้นักเรียนเลือก ถ้าพร้อมแล้ว ไปอานกันเลยค่า
หลักสูตร A-Level
หลักสูตร A-Level ชื่อเต็มว่า The General Certificate of Education Advanced Level Certificate – GCE A Level เป็นการศึกษาในระดับมัธยมปลาย (Year 12 – 13) ขั้นต่อมาจากการเรียน IGCSE (Year 10 – 11) โดยรวมของหลักสูตรจะเรียนทั้งหมด 2 ปี น้องๆต้องเลือกเรียน 3 – 4 วิชา ซึ่งบอกได้เลยว่าเข้มข้นและลึกมากพอควรโดยมีการเทียบเท่าเนื้อหาของปี 1 และ 2 ของมหาลัยในไทยเลย ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนหลักสูตรสาขาวิชาที่จะใช้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเราจะแบ่งการเรียน A-Level ในเข้าใจง่ายๆจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
- AS Examination(Advanced Subsidiary) โดยทั่วไปคือการเรียนในช่วง Year 12
เกรดที่จะได้ ได้แก่ a,b,c,d,e โดยน้องๆ จะต้องเลือกเรียน 4 วิชา
เกรดที่ได้ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด แต่การสอบผ่านเพียงระดับ AS Level จะถือว่าจบแค่เพียงครึ่งเดียว หรือครึ่งเครดิตของหลักสูตร A Level เท่านั้น - A2 Examination โดยทั่วไปคือการเรียนในช่วง Year 13
ซึ่งเกรดที่จะได้นั้นมากสุดคือ A*,แล้วไล่มาที่ A,B,C,D,E ตามลำดับ โดยนักเรียนจะเลือกเรียนทั้งหมด 3-4 วิชา
สำหรับตัวเนื้อหาของ AS และ A2 จะมีความต่อเนื่องกัน เช่นถ้ามีการเรียนวิชาใดวิชานึงในพาร์ทของ AS เทียบเป็นบทที่ 1-2 พอน้องๆมาเรียนใน A2 นั้นน้องๆสามารถต่อไปบทที่ 3-4 ได้เลย ซึ่งสำหรับจุดประสงค์สำคัญในการเรียน A-Level คืออยากให้น้องๆสามารถค้นหาตัวเองได้แล้วเลือกเรียนในวิชาที่เหมาะสมกับการยื่นเข้าคณะต่างๆ เพราะการเลือกวิชาเรียนจะส่งผลถึงอนาคตในการเข้าคณะและมหาวิทยาลัยที่น้องเลือก
เกณฑ์การให้เกรดของ A-Level
ผลการสอบ A Level มี 5 ระดับ คือ A – E
- เกรด A* ต้องมีคะแนน 90% ขึ้นไป
- เกรด A ต้องมีคะแนน 80-89%
- เกรด B ต้องมีคะแนน 70-70%
- เกรด C ต้องมีคะแนน 60-69%
- เกรด D ต้องมีคะแนน 50-59%
- เกรด E ต้องมีคะแนน 40-49%
มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่พิจารณารับผู้มีผลการสอบในระดับ C ขึ้นไป และในบางแห่งอาจรับเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนระดับ A และ B สำหรับการเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) กระทรวงศึกษาธิการไทยได้เปลี่ยนกฎการเทียบวุฒิโดยไม่ถือว่า วุฒิการศึกษา GCSE / IGCSE (5 วิชา) เทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของไทย นักเรียนจะต้องเรียนต่อในระดับ AS หรือ A-Level และสอบผ่านอย่างน้อย 3 วิชา ที่มีคะแนนไม่ต่ำกว่าระดับ C
จำนวนวิชากับการจบหลักสูตร A-Level
การเรียนจบ 3 วิชาขึ้นไปใน Year 13 นั้นจะถือว่าน้องๆ เรียนจบหลักสูตร A-level (รวมกับ IGCSE 5 วิชา ในตอน year 10-11 จะถือว่าได้วุฒิมัธยมปลาย ) แต่หากอยากเข้า Top University ในต่างประเทศ การทำได้ถึง 4 วิชานั้นอาจจะทำให้เรามีแต้มต่อที่มากกว่าในการยื่นผลคะแนน แต่หากวิชาที่ 4 นั้นทำได้ไม่ดี เราอาจจะดร็อปให้วิชานั้นเป็นเพียง AS level ก็ย่อมได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงหลักสูตร A-Level จะได้รับการยอมรับในสากล แต่เป็นที่รู้กันว่าการยื่นคะแนน A-Level เข้ามหาวิทยาลัยในอังกฤษและเครือจักรภพนั้นเป็นที่นิยมกว่า เพราะหากน้องๆ สนใจจะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกา หรือยุโรป แค่เพียงคะแนน A-Level อาจจะไม่เพียงพอ เพราะเกณฑ์การรับเข้านั้นต่างกัน น้องๆ อาจจะต้องสอบ SAT หรือ ACT ควบคู่ไปด้วยค่ะ
หลักสูตร AP
Advanced Placement Program หรือ AP คือ หลักสูตรการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกจัดทำโดย College Board หรือหน่วยงานที่จัดสอบ SAT นั่นเอง โดยหลักสูตรนี้ถือเป็นโครงการเรียนล่วงหน้าสำหรับน้องๆมัธยมปลาย และมักจะพบบ่อยๆในโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอเมริกันซึ่งมีการเปิดวิชา AP ให้เด็กๆ เลือกเรียน เนื่องจากเนื้อหาวิชา AP นั้นจะสอนเข้มข้นมากๆ และอาจเป็นตัวเนื้อหาที่น้องๆจะต้องเจอในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นหากน้องๆ เลือกเรียนวิชา AP เสริมจากการเรียนในหลักสูตรปกติและได้คะแนนดี ก็อาจจะสามารถนำผลคะแนนไปแลกเป็นเครดิตวิชานั้นๆ ในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อลดจำนวนวิชาเรียนได้อีกด้วย
AP นั้นไม่ใช่วุฒิการศึกษาเหมือนกับ IB หรือ A-Level แต่เป็นเพียงทางลัดในการเข้ามหาวิทยาลัยและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในส่วนของโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอเมริกันนั้น เป็นที่รู้กันว่าจะเน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในช่วงประถมวัยแล้วควบคู่ไปกับการศึกษาวิชาการในวัยที่โตขึ้น เพื่อให้เด็กรับรู้ความต้องการของตนเอง หลายคนเลยอาจจะเข้าใจว่าการเรียนเชิงวิชาการของโรงเรียนระบบอเมริกันนั้นไม่หนักหน่วงเท่าหลักสูตร A-Level และ IB ซึ่งตรงนี้พี่ต้องบอกว่าไม่เสมอไปนะคะ เพราะในบางโรงเรียนหลักสูตรอเมริกันก็มี option ให้น้องๆ เลือก IB diploma ตอนอยู่ Grade สูงได้ๆ เช่น ISB, RIS
หลักสูตร AP นั้น น้องๆ สามารถเลือกวิชาเรียนและจำนวนวิชาตามที่น้องๆ สนใจได้ โดยในตัวหลักสูตรจะถูกแบ่งออกเป็น 7 หมวดวิชา ซึ่งประกอบไปด้วย 37 วิชาย่อย ดังนี้
- AP Capstone เช่น AP Research, AP Seminar (หมวดวิชานี้จะเน้นการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ทำวิทยานิพนธ์และงานวิจัย ทั้งแบบเดี่ยวเเละกลุ่ม)
- AP Arts เช่น Art History, Music Theory
- AP English เช่น Language & Composition, Literature & Composition
- AP History & Social Sciences เช่น Human Geography, Micro/Macroeconomics, World History
- Math & Computer Science เช่น Calculus AB/BC, Computer Science, Statistics
- Sciences เช่น Biology, Chemistry, Physics
- World Languages เช่น Chinese Language & Culture และ Latin
AP สอบอะไรบ้าง?
ในแต่ละวิชา AP ก็จะมี requirements ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนมากเกือบทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นการสอบข้อเขียนในกระดาษ หรือสอบแบบ digital การสอบส่วนใหญ่จะใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะมีสิ่งที่เหมือนๆกันดังต่อไปนี้
การสอบส่วนที่ 1
ในส่วนแรกของข้อสอบมักจะมีคำถามแบบปรนัย หรือ Multiple-choice โดยจะให้นักเรียนเลือก 1 คำตอบ จาก 4 – 5 คำตอบ สำหรับแต่ละคำถาม และใช้ดินสอวงข้อที่เลือกลงในกระดาษคำตอบ และสำหรับการสอบแบบ digital จะให้กรอกคำตอบลงใน exam application
คะแนนรวมของการสอบแบบปรนัย จะคำนวณจากจำนวนข้อที่ตอบถูก และจะไม่ได้คะแนนในข้อที่ตอบผิดหรือไม่ได้ตอบ
การสอบส่วนที่ 2
ในส่วนที่สองของการสอบโดยส่วนมากมักจะประกอบด้วยการสอบแบบอัตนัย โดยนักเรียนจะต้องเขียนคำตอบขึ้นมาเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อสอบด้วยว่าต้องการคำตอบแบบเรียงความ (Essay) หรือการคำนวณหาคำตอบ
- สำหรับการสอบแบบใช้กระดาษคำตอบ โดยส่วนมากนักเรียนจะเขียนคำตอบด้วยปากกาลงในสมุดคำตอบที่แจกให้
- สำหรับการสอบแบบ Digital, AP Chinese และ AP Japanese Language and Culture นักเรียนจะพิมพ์คำตอบลงใน exam application ในคอมพิวเตอร์
เกณฑ์การให้คะแนน AP
คะแนนที่น้องๆ จะได้รับจะอยู่ในรูปแบบตัวเลข 1-5 ซึ่งแต่ละเลขนั้นจะมีความหมายดังนี้:
5 – Extremely Well Qualified
4 – Well Qualified
3 – Qualified
2 – Possibly Qualified
1 – No recommendation
โดยคำตอบส่วน Multiple Choice ของน้องๆ นั้นจะถูกตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในขณะที่คำตอบ Free Response จะถูกตรวจโดยครูหรือคณาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งสอนวิชา AP หรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และได้มีการคัดค่ามาตรฐานของคะแนนเทียบกับค่าเฉลี่ยในแต่ละรอบ