ระบบการศึกษาอังกฤษและระบบการศึกษาอเมริกาต่างกันอย่างไร?

ระบบการศึกษาอังกฤษและระบบการศึกษาอเมริกาต่างกันอย่างไร?

โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะนำหลักสูตรการศึกษาของ 2 ประเทศมาใช้ ซึ่งก็คือ ระบบการศึกษาอังกฤษและระบบการศึกษาอเมริกา ซึ่งเชื่อว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ หลายคนยังสับสนกับการเรียนการสอนในสองหลักสูตรนี้อยู่ และไม่รู้ว่าควรเลือกเรียนหลักสูตรไหนดี เราจึงขอมาสรุปความต่างของทั้งสองหลักสูตรนี้ให้ได้รู้กัน

ความแตกต่างในการแบ่งระดับชั้นของนักเรียน

ในการแบ่งระดับชั้นของนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ทั้งในหลักสูตรอังกฤษและหลักสูตรอเมริกา มีวิธีการแบ่งระดับชั้นของนักเรียนที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

ระบบการศึกษาอังกฤษ

สำหรับระบบการศึกษาอังกฤษ จะแบ่งช่วงชั้นการเรียนรู้ (Key Stage) ออกเป็น 6 ช่วง และใช้คำเรียกระดับชั้นว่า “Year” โดยแบ่งออกเป็น ดังนี้

  • ช่วงชั้น 0 (Key Stage 0 Nursery-Reception) สำหรับเด็กเล็ก อายุ 4-6 ปี
  • ช่วงชั้น 1 (Key Stage 1 Year 1-Year 2) อายุ 5-6 ปี 
  • ช่วงชั้น 2 (Key Stage 2 Year 3-Year 6) อายุ 7-10 ปี 
  • ช่วงชั้น 3 (Key Stage 3 Year 7-Year 9) อายุตั้งแต่ 11-13 ปี 
  • ช่วงชั้น 4 (Key Stage 4 Year 10-Year 11) อายุ 14-15 ปี
  • ช่วงชั้น 5 (Key Stage 5 Year 12-Year 13) อายุตั้งแต่ 16-17 ปี

ระบบการศึกษาอเมริกา

ส่วนระบบการศึกษาอเมริกา จะแบ่งระดับการศึกษาออกเป็นระดับชั้นการเรียนรู้ใน 4 ช่วง โดยจะใช้คำว่า “Grade” ในแต่ละช่วงปี 

  • ระดับอนุบาล Kindergarten (KG) อายุ 4-6 ปี
  • ระดับประถมศึกษา Elementary School (Grades 1-5) อายุ 6-11 ปี
  • มัธยมศึกษาตอนต้น Middle School (Grades 6-8) อายุ 11-14 ปี
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย High School (Grades 9-12) อายุ 14-18 ปี

รูปแบบการเรียนการสอน

โรงเรียนนานาชาติในไทย ทั้งในหลักสูตรอังกฤษและหลักสูตรอเมริกา มีรูปแบบการเรียนการสอน ทั้งในส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะมีรายละเอียดดังนี้

ระบบการศึกษาอังกฤษ

ระบบการศึกษาในหลักสูตรอังกฤษ จะเน้นการเรียนรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับการให้เด็กได้ค้นหาตนเอง (Self-Study) ซึ่งจะมีวิชาเรียนประมาณ 8-9 วิชา ตามแต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้จัด แต่จะมีวิชาหลักซึ่งเป็นวิชาบังคับอย่างน้อย 3 วิชา คือ

  • ภาษาอังกฤษ
  • คณิตศาสตร์
  • วิทยาศาสตร์

นอกจากวิชาหลักเหล่านี้ ที่เหลืออีกประมาณ 5-6 วิชา จะเป็นวิชาเลือก 

ระบบการศึกษาอเมริกา

ระบบการศึกษาในหลักสูตรอเมริกา จะเน้นการเรียนรู้ทางวิชาการผ่านการทำกิจกรรม โดยให้เด็ก ๆ เริ่มทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ในห้องเพื่อเรียนรู้การเข้าสังคม จากนั้นจึงค่อยทำการเรียนการสอน ทั้งในรายวิชาที่เกี่ยวกับตัวเลขและการอ่าน รวมถึงวิชาต่าง ๆ อีก 6 วิชา คือ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศาสตร์ วิชาภาษาศาสตร์ วิชาศิลปะ และวิชาพลศึกษา 

ระบบการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ระบบการศึกษาอังกฤษ

ในส่วนของหลักสูตรเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาอังกฤษ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 

ช่วงชั้น 4 (Key Stage 4 Year 10-Year 11)

คือในช่วงอายุ 14-16 ปี ซึ่งในระดับนี้ ผู้เรียนต้องทำการสอบ IGCSE โดยมีทั้งหมด 70 วิชา โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มวิชา คือ 

  • กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์  เช่น Physical Science, Physics Science-Combined, Agriculture, Biology, Chemistry และ Environmental Management
  • กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ เช่น Mathematics, Additional Mathematics และ Cambridge International Mathematics
  • กลุ่มวิชาทักษะภาษาอังกฤษ ได้แก่ English language and literature
  • กลุ่มวิชาภาษาศาสตร์ เช่น Thai, English (First or Second Language), Japanese, Korean, German, French, Arabic, Italian, Russian, Turkish, Hindi, Greek และ Indonesian
  • กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น History, Business Studies, Travel and Tourism, Geography, Religious Studies, Economics และ Sociology
  • กลุ่มวิชาทักษะวิชาชีพ เช่น Accounting, Art & Design, Music, Accounting, Business Studies, Drama, Enterprise, Physical Education, Computer Science, Design & Technology,  Food & Nutrition, Information & Communication และ Enterprise

ผลการสอบ IGCSE จะแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ Grade A-G โดยผู้ที่สอบได้ Grade C ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน 

ช่วงชั้น 5 (Key Stage 5 Year 12-Year 13)

เป็นช่วงที่นักเรียนจะมีอายุตั้งแต่ 16-17 ปี เรียกอีกชื่อว่า Sixth Form โดยนักเรียนต้องเลือกสอบระหว่าง IB Diploma และ A-Level ซึ่งมีรายละเอียดของการสอบแต่ละรูปแบบ ดังต่อไปนี้

การสอบ IB Diploma Programme

สำหรับการสอบของหลักสูตร IB Diploma Programme มีวิชาให้เลือกสอบ 6 กลุ่มวิชา คิดเป็นวิชาละ 7 คะแนน มีคะแนนรวมทั้งหมด 42 คะแนน นอกจากนี้ ยังจะมีการคิดอีก 3 คะแนน จากการทำกิจกรรมเพิ่มเติมในหลักสูตร ทำให้มีคะแนนรวมทั้งหมด 45 คะแนน โดยนักเรียนต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 24 คะแนน จึงจะถือว่าสอบผ่าน ซึ่งวิชาใน 6 กลุ่ม มีดังนี้

  • Studies in language and literature (Language A)
  • Language acquisition (Language B) เช่น French, Spain และ German
  • Individuals and Societies เช่น Philosophy, Economics และ Business and management
  • Sciences เช่น Physics, Chemistry และ Biology
  • Mathematics เช่น Mathematics (SL, HL) และ Further Mathematics
  • The Arts เช่น Visual arts, Film, Music, Dance และ Theatre

ทั้งนี้ อีก 3 คะแนนที่เหลือจะมาจากการทำกิจกรรมต่อไปนี้

  • Theory of Knowledge (ToK) เป็นการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม วัฒนธรรมของตนเองและโลกผ่านการเขียน Essay ประมาณ 1,200-1,600 คำ
  • Creativity, Action, Service (CAS) เป็นการทำโครงงานกิจกรรมนอกโรงเรียน โดยเน้นกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จิตอาสา และกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ
  • Extended Essay (EE) เป็นการเขียน Essay ในหัวข้อที่สนใจประมาณ 4,000 คำ
การสอบ A-Level

ในส่วนการสอบของหลักสูตร A-Level มีวิชาให้เลือกสอบจาก 6 กลุ่มวิชา โดยให้เลือกเพียง 3-4 วิชา ซึ่งมีรายวิชา คือ

  • Creative and professional เช่น Accounting, Business
  • English language and literature เช่น English-Literature
  • Humanities and social science เช่น Economics, Geography
  • Languages เช่น Chinese, German และ French
  • Mathematics ได้แก่ Mathematics และ Mathematics-Further
  • Sciences เช่น Biology, Chemistry และ Physics

ผลการสอบ A Level มี 5 ระดับ คือ A-E โดยผู้สอบต้องได้ผลการสอบในระดับ C ขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นการสอบผ่าน

เมื่อสอบผ่านการสอบในทั้ง 2 ช่วงได้แล้ว ก็จะสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัยต่อไป

ระบบการศึกษาอเมริกา

ในด้านของระบบการศึกษาอเมริกา เมื่อนักเรียนเรียนถึงระดับ High School (Grades 9-12) จำเป็นต้องเลือกเรียนและสอบใน 3 หลักสูตร คือ GED, IB Diploma และ Advanced Placement (AP) ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละแบบ ดังนี้

 การสอบ GED

GED หรือ General Educational Development เป็นการสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนที่เรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียนหรือระบบการศึกษาอเมริกา โดยจะต้องสอบทั้งหมด 4 วิชา คือ

  • Reasoning Through Language Arts (RLA)
  • Social Studies
  • Mathematical Reasoning
  • Science

ทั้ง 4 วิชาจะมีคะแนนเต็มวิชาละ 200 คะแนน โดยต้องสอบให้ได้คะแนนวิชาละ 145 คะแนนขึ้นไป จึงจะถือว่าสอบผ่านและได้วุฒิ GED

การสอบ IB Diploma Programme

ส่วนการสอบ IB Diploma Programme ของระบบการศึกษาอเมริกา มีจำนวนวิชาที่ใช้สอบ และหลักเกณฑ์ในการสอบผ่านเหมือนระบบการศึกษาอังกฤษ 

การสอบ Advanced Placement (AP)

AP (Advanced Placement) เป็นการสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามหาวิทยาลัยของผู้ที่เรียนในระบบการศึกษาอเมริกา โดยวิชาในการสอบจะแบ่งออกเป็น 6 หมวด รวมแล้ว 37 รายวิชา ซึ่งหมวดวิชาที่สอบจะประกอบไปด้วย

  • Arts เช่น Art History, Music Theory
  • English เช่น English Language and Composition, English Literature and Composition
  • History and Social Sciences เช่น European History, Microeconomics, Psychology
  • Math and Computer Science เช่น Calculus AB, Calculus BC, Computer Science A
  • Sciences เช่น Biology, Chemistry, Physics 1: Algebra-Based
  • World Languages and Cultures เช่น Chinese Language and Culture

ในการสอบ AP นั้น ผลการสอบจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 5, 4, 3, 2 และ 1 (5 = ดีที่สุด) ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนมากจะยอมรับผลคะแนนที่ 4 และ 5 คะแนน แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่รับคะแนนในระดับที่ 3 ด้วยเช่นกัน

และทั้งหมดนี้คงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ เข้าใจถึงความแตกต่างของระบบการศึกษาอังกฤษและระบบการศึกษาอเมริกากันมากขึ้น และสำหรับน้อง ๆ ที่กำลังมองหาที่ปรึกษาด้านวางแผนเรียนหลักสูตรนานาชาติ ที่ Up Grade Class มีครูผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อให้น้อง ๆ สามารถพิชิตมหาวิทยาลัยในฝันได้ดังใจ